ก่อนที่ผู้คนทั่วโลกจะใช้ “ปฏิทินสากล” เป็นสิ่งกำหนดวันขึ้นปีใหม่ คือ วันที่ 1 มกราคม เหมือนกันในทุกๆ ปี เมื่อครั้งอดีตกาลผู้คนในยุคโบราณต่างใช้การสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า นำมาเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดวันและปี เหมือนอย่างเมื่อครั้งอดีตที่ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศในแถบดินแดนอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ใช้ “วันสงกรานต์” ซึ่งเป็นวันในช่วงกลาง “เดือนเมษายน” ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยมในปี พ.ศ. 2483
การที่ผู้คนโบราณรวมถึงสังคมไทยเมื่อครั้งอดีตต่างใช้ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเป็นสิ่งกำหนดวันเวลา จากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นั้น ใช้เวลา 365 วัน หรือ 1 ปี ที่ประกอบด้วย 12 เดือน การโคจรของโลกที่เป็นวงกลมรอบดวงอาทิตย์นั้น เรียกว่า “สุริยวิถี” แถบสมมติบนท้องฟ้าที่เป็นระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เป็นศูนย์กลาง ระนาบสุริยวิถีนี้ จะมีกลุ่มดาวฤกษ์ 12 กลุ่ม เรียกว่า “จักรราศี” โดยเป็นกลุ่มดาวฤกษ์จำนวน 12 กลุ่ม ที่อยู่ล้อมรอบระบบสุริยะ ซึ่งเมื่อมองจากโลกจะเห็นกลุ่มดาวเหล่านี้ ปรากฏเป็นฉากหลังของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้า แตกต่างกันไปตามช่วงระยะเวลาของเดือน
ผู้คนในสมัยโบราณจึงใช้กลุ่มดาวจักรราศีกำหนดวันและปี โดยกลุ่มดาวจักรราศีได้ถูกแบ่งออก เป็น 12 กลุ่มดาว หรือ 12 ราศี เวลาดูในท้องฟ้า จะเห็นกลุ่มดาว 12 ราศีเรียงตามลำดับจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก เริ่มตั้งแต่ 1. กลุ่มดาวแกะ (ราศีเมษ) 2. กลุ่มดาววัว (ราศีพฤษภ) 3.กลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน) 4.กลุ่มดาวปู (ราศีกรกฎ) 5.กลุ่มดาวสิงโต (ราศีสิงห์) 6.กลุ่มดาวหญิงสาวพรหมจารี (ราศีกันย์) 7.กลุ่มดาวคันชั่ง (ราศีตุล) 8.กลุ่มดาวแมงป่อง (ราศีพิจิก) 9.กลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธนู) 10.กลุ่มดาวมกร หรือ แพะทะเล (ราศีมังกร) 11.กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (ราศีกุมภ์) และ 12. กลุ่มดาวปลาคู่ (ราศีมีน) และเมื่อโลกโคจรมาอยู่จุดที่ดวงอาทิตย์มีกลุ่มดาวแกะเป็นฉากหลังอีกครั้ง ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นวงโคจรครั้งใหม่ของโลก
ซึ่งเมื่อครั้งอดีตนั้น ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับวัฒนธรรมต่างๆ มาจากอินเดีย ทำให้มีการสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่อ ทั้งในเรื่องศาสนา ศิลปะวัฒนธรรมประเพณี และระบบการเคลื่อนย้ายของดวงดาวจักรราศี ที่ใช้กำหนดวันต่างๆ ตามปฏิทินสายสุริยยาตร์ ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้ประเทศไทยได้มีการใช้ “วันสงกรานต์” เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ คือวันที่ดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าได้มีกลุ่มดาวแกะกลับมาเป็นฉากหลังอีกครั้ง หรือในทางภาษาโหราศาสตร์จะใช้คำว่า ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ และนั้นก็สอดคล้องกับคำว่า “สงกรานต์” ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤต (สํกฺรานฺติ) แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่ใน “เดือนเมษายน” เป็นเดือนที่พิเศษกว่าเดือนไหน เนื่องจากในวันที่ 14 เมษายน ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ และเป็นการเริ่มต้นการโคจรขิงโลกรอบดวงอาทิตย์ครั้งใหม่
สำหรับกลุ่มดาวฤกษ์ลำดับแรกที่ใช้กำหนด จุดเริ่มต้นนั้น คือ “กลุ่มดาวแกะ” หรือ “ราศีเมษ” ปฏิทินสายสุริยยาตร์ กลุ่มดาวฤกษ์นี้จะปรากฏเป็นฉากหลังระหว่างวันที่ 13 เมษายน ถึง 13 พฤษภาคม ของทุกปี เพราะฉะนั้น วันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็น วันมหาสงกรานต์หรือวันปีใหม่ไทย จึงอยู่ใน “เดือนเมษายน” ของทุกๆ ปี เช่นเดียวกัน
กลุ่มดาวแกะ – Aries ภาษาลาติน แปลว่า “แกะตัวผู้” ชาวอาหรับเรียกว่า “เจ้าชายแห่งสิบสองราศี” หรือ “ เจ้าชายแห่งท้องฟ้า” หรือ “ ผู้นำของกลุ่มดาว 12 ราศี” ราศีนี้จึงถูกยกให้เป็นราศีที่ 1 ใน 12 จักรราศี กลุ่มดาวแกะ เป็นกลุ่มดาวทางซีกฟ้าด้านเหนือ อยู่ถัดจากกลุ่มดาวปลาไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยดาวฤกษ์ 4 ดวงเป็นอย่างน้อย โดย 3 ดวงแรกเป็นส่วนของหัวแกะ มี ดาว Hamal เป็นดาวฤกษ์สีเหลือง ที่มีความสว่าง 2.00 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 66 ปีแสง , ดาว Sheraton มีความสว่าง 2.64 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 60 ปีแสง , ดาว Aries มีความสว่าง 4.0 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 148 ปีแสง และอีก 1 ดวงเป็นสะโพกของแกะ กลุ่มดาวแกะจะขึ้นทางจุดทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือเล็กน้อยประมาณ 22.5 องศา และจะปรากฏบนท้องฟ้านานวันละ 12 ชั่วโมง
เมื่อครั้งสมัยกรีกโบราณ (1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) เคยเป็นกลุ่มดาวที่แนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ตัดกับแนวเส้นศูนย์สูตรฟ้าพอดี ในราววันที่ 21 มีนาคมของทุกปี จึงเรียกจุดเวอร์นอล อิควินอกซ์ ว่า “จุดแรกของราศีเมษ” (First Point of Aries) แต่เนื่องจากการส่ายของแกนหมุนของโลก จุดดังกล่าวได้เลื่อนมาอยู่ในกลุ่มดาวปลาคู่หรือราศีมีนในปัจจุบัน
ความรู้ต่างๆ ของปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้า ก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกนี้ มนต์เสน่ห์ของดวงดาวจึงไม่เคยเลือนหายไป แม้วันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใดก็ตาม