ในวันพระสำคัญของทุกๆ ปี เช่น วันวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา เข้าพรรษา และ วันออกพรรษา หนึ่งในดอกไม้ที่ได้รับความนิยมในการนำมาทำบุญหรือถวายต่อพระรัตนตรัย ก็คือ “ดอกเข้าพรรษา” แม้ชื่อจะระบุว่า “เข้าพรรษา” แต่ด้วยความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์และความหมายที่เป็นมงคล ดอกไม้ชนิดนี้จึงได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าเป็นวันพระใดก็ตาม
ดอกเข้าพรรษา หรือในชื่ออื่นๆ ดอกหงส์เหิน ว่านนางพญาหงส์ทอง เป็นพืชตระกูลขิง มีเหง้าใต้ดิน ZINGIBERACEAE ถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และกระจายพันธุ์ได้ดีบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้มากกว่า 100 ชนิด ในประเทศไทยสามารถพบได้มากกว่า 40 ชนิด โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
ลักษณะว่านเข้าพรรษาเป็นพุ่มเป็นกอคล้ายกระชาย มีดอกเป็นช่อสวยงามมีเอกลักษณ์ ดอกจะมีทั้งสีขาว สีเขียว สีเหลือง สีม่วง ดอกเรียงเป็นวงรอบช่อ ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม ปลายโค้งออก แต่ละใบประดับมีดอกเดียว ดอกสีครีมอมเหลือง กลีบปากสีเหลือง ปลายจักลึก 2 พู เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 5 มม. สีเหลือง ยอดเกสรเพศเมียสีขาว รูปกรวย ผลแห้งไม่แตก ยาว 1-1.5 ซม. เมล็ดยาว 3-4 มม. มีเยื่อหุ้มสีน้ำตาล
ลักษณะของดอกส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กคล้ายนกหรือหงส์ที่กำลังเต้นรำ จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “หงส์เหิน” และบางชนิดมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Dancing ladies ginger” จะออกดอกมาสุดในช่วงเดือน เมื่อพฤษภาคม – กันยายน วิธีการปลูกสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการแยกหน่อ ปลูกในดินที่มีความโปร่งพื้นที่มีแดดรำไรไม่มีน้ำขังรดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้ง
ในเรื่องความเชื่อสมัยโบราณที่ยังต้องมีการเข้าป่าเพื่อหาของยังชีพ หรือเดินทางค้าขายต่างถิ่น หากต้องค้างอ้างแรมในป่าช่วงฤดูฝนคนในสมัยนั้นเลือกที่จะพักใกล้กับจุดที่มีดอกเข้าพรรษาด้วยความเชื่อที่ว่าดอกเข้าพรรษามีพุทธคุณช่วยป้องกันให้แคล้วคลาดจากอันตราย จากวิญญาณเร่ร่อน หรืออาถรรพ์ต่างๆ อีกทั้งยังนิยมพกดอกเข้าพรรษาตอนเดินทางเพื่อกันการหลงทาง สำหรับบ้านเรือนต่างๆ ก็ยังนิยมปลูกไว้บริเวณบ้านเพื่อป้องกันภยันตราย ไม่ให้เข้ามาในบ้าน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช / สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช