“วันชาติ” โดยทั่วไปมักจะหมายถึง วันที่กำหนดเป็นวาระเฉลิมฉลองความเป็นชาติของประเทศนั้น ๆ ได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของกษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ โดยมากมักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติด้วย ซึ่ง”วันชาติ” ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ
วันชาติไทย แต่เดิมกำหนดให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันที่คณะราษฎรก่อการปฏิวัติสยามใน พ.ศ. 2475 โดยเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และเริ่มงานฉลองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ซึ่งวันชาติของไทยนั้นอยู่มานานถึง 21 ปี ต่อมาใน พ.ศ. 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน และให้ถือเอาวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันชาติแทน โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา โดยเหตุผลที่มีการจัดงานวันพ่อแห่งชาติขึ้น เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม ซึ่งผู้เป็นลูกควรที่จะเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมที่ควรยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดให้ ของทุกปี จะเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และเป็นวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่5 ธันวาคม 2523 เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัว ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” โดยมีดอกไม้สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อ คือ ดอกพุทธรักษา ซึ่งมีชื่ออันเป็นมงคล
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เห็นชอบให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติไทยดังนี้
1. เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
2. เป็นวันชาติ
3. เป็นวันพ่อแห่งชาติ
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ (ประเทศไทย) เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาของพระองค์ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยังประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรของพระองค์มาโดยตลอด
และได้เชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนากาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ทรงเป็นพระบิดาแห่งศาสตร์ต่างๆ 9 แขนง อันได้แก่
1. พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ
2. พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
3. พระบิดาแห่งฝนหลวง
4. พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
5. พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย
6. พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย
7. พระบิดาแห่งการวิจัยไทย
8. พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย และ
9. พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย
กิจกรรมที่ปฏิบัติ
1. ประดับธงชาติไทยบริเวณอาคารบ้านเรือน
2. จัดพิธีทางศาสนา ทำบุญตักบาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
3. พิธีถวายพานพุ่มดอกไม้และถวายบังคม
4. กิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
เอกสารอ้างอิง
1. “วันชาติ ประเทศไทย”. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2565, จาก https://th.wikipedia.org/wiki
2. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี,(2561). ประวัติความเป็นมา วันพ่อแห่งชาติ. 8 มีนาคม 2565,http://www.aac.ubru.ac.th/ebook/fathers-day-2561/ mobile/index.html#p=1
แบบทดสอบเพื่อรับเกียรติบัตร